ชมรายละเอียดฉลองพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ

ชมรายละเอียดฉลองพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 เฟซบุ๊ก We love สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ได้โพสต์พระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ขณะเสด็จพระราชดำเนินพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมาฆบูชา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ฉลองพระองค์ในชุดไทยอมรินทร์สีแดง

โดยทางเพจได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับฉลองพระองค์ชุดไทยอมรินทร์สีแดงว่า

ฉลองพระองค์ชุดไทยอมรินทร์ พระภูษาผ้ายกไหมลายเถากระดังงา

กระดังงาส่งกลิ่นหอมฟุ้งดั่งความดี

หัตถกรรมทอผ้าพื้นบ้านเป็นงานฝีมือที่เชื่อมโยงถึงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีการดำรงชีวิตของคนพื้นบ้านในแต่ละยุคสมัย ตามกาลเวลาและการหล่อหลอมให้เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม จนเป็นเอกลักษณ์ตามลักษณะของพื้นบ้านตน ภูมิปัญญาเหล่านี้สร้างขึ้นด้วยฝีมือเชิงศิลปะเพื่อถ่ายทอดและสะท้อนคุณค่าของชุมชนที่เป็นอยู่ลงในเนื้องานทั้งการบ่งบอกลักษณะที่ตั้งของชุมชนรวมถึงวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ที่แสดงออกมาอย่างประณีต สวยงาม และทักษะในงานฝีมือนี้จะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จึงทำให้งานศิลปหัตถกรรมการทอผ้าพื้นบ้านเป็นสิ่งบอกเล่าความเป็นมาของเชื้อชาติ ชุมชนนั้นได้เป็นอย่างดี

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ้ายกเป็นที่นิยมในราชสำนักและแวดวงสังคมชั้นสูง เนื่องจากการคมนาคมสะดวกทั้งทางรถไฟและทางรถยนต์จากรุงเทพฯ สู่เชียงใหม่และลำพูน ภาคเหนือจึงกลายเป็นแหล่งผ้าไหมที่ลือชื่อ และตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ผ้ายกที่ทอด้วยฝีมือประณีตจากลำพูนเป็นที่ต้องการทั่วไป ไม่เฉพาะแต่ในราชสำนัก คนลำพูนที่มองการณ์ไกล ได้เริ่มสร้างโรงทอผ้ายกด้วยกี่พื้นบ้านและผลิตผ้ายกออกจำหน่าย เนื่องจากเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากจนเป็นหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อซึ่งล้วนเป็นการถ่ายทอดลวดลายและวิธีการทอมาแต่รุ่นบรรพบุรุษ

ผ้ายกลำพูนถือเป็นงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวลำพูนมีความงดงามประณีตในการใช้ฝีมือ โดยเฉพาะศิลปะการทอผ้ายกที่เนรมิตลายดอกและเครือเถาที่นูนเด่น ทำให้ผ้ายกลำพูนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายจากอดีตถึงปัจจุบัน

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก We love สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ