พบหินโปร่งแสงคล้ายเพชร นึกว่า เป็นอัญมณีมีค่า

พบหินโปร่งแสงคล้ายเพชร นึกว่า เป็นอัญมณีมีค่า

วันที่ 21 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี ชาวบ้านต่างแตกตื่นหินประหลาดที่ นางจิระประไพ กองสงคราม อายุ 52 ปี เจ้าของบ้านเลขที่ 107 หมู่ 9 บ้านโคกสะอาด ต.กันจุ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ พบหลังจ้างแบ็กโฮมาขุดสระน้ำบริเวณหลังบ้านลึกลงไปจากพื้นที่ประมาณ 3 เมตร โดยเป็นหินลักษณะโปร่งแสง มีทั้งสีขาว และสีแดง ทั้งก้อนเล็กก้อนใหญ่กระจายเต็มไปหมด อีกทั้งขณะขุดก่อนพบหินประหลาดคนขับแบ็กโฮเห็นแสงไฟประหลาดพุ่งสะท้อนขึ้นมา และบางช่วงรถแบ็กโฮไม่สามารถขยับได้ จนต้องไปถามเจ้าของที่ดินว่าเจ้าที่แรงหรือไม่ กระทั่งมาพบหินดังกล่าว ก่อนชาวบ้านรู้เรื่องแห่มาดูต่างคิดกันไปว่ามีค่าเหมือนอัญมณี จนเป็นที่ฮือฮาอยากได้มาครอบครอง

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ ทางกรมทรัพยากรธรณี มีหนังสือชี้แจงว่า หินประหลาดดังกล่าว คือ แร่ควอตซ์ชนิดหนึ่ง ที่มีซิลิก้าเป็นองค์ประกอบ ตามธรรมชาติจะมีสีขาวโปร่งแสง ใสเหมือนกระจก หากเป็นผลึกจะเรียกว่า หินเขี้ยวหนุมาน โดยธรรมชาติแร่ควอตซ์จะมีหลายสี หากสีม่วง เรียก Amethyst สีเหลืองเรียก Citrine เป็นต้น คุณสมบัติของแร่ควอตซ์มีความคงทนต่อการถูกทำลายสูงมีความแข็งเท่ากับ 7 (เพชรความแข็งเท่ากับ 10) ในธรรมชาติเมื่อแร่คอวตซ์ผุพังถูกกัดเซาะทำลายจะแตกสลายเป็นเม็ดกรวด ทราย ปะปนอยู่ในดินทั่วไป รวมทั้งสันทรายหรือชายหาด

ส่วนประโยชน์สามารถนำมาหลอมในอุตสาหกรรม แก้ว กระจก ขวดน้ำ แต่ส่วนใหญ่จะใช้ทรายแก้วที่ได้จากการผุพังและสะสมตัวของแร่ควอตซ์ สำหรับควอตซ์ที่บริสุทธิ์นำมาใช้ทำเส้นใยไฟเบอร์ออฟติด และไมโครชิพสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือนำมาถลุงได้ธาตุซิลิคอน (Si) ซึ่งนำธาตุโลหะชิลิคอนมาผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ ส่วนประเด็นที่ว่า มีแสงพุ่งขึ้นมาตอนขุดนั้น น่าจะเกิดจากตัวตักของรถแบ็กโฮเป็นเหล็กกระทบกับหินควอตซ์ที่แข็งกว่าจนเกิดประกายไฟ ลักษณะเช่นเดียวกับเวลาที่มีโลหะขูดกับถนน นั่นเอง

ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ตะกอนน้ำไหล จึงมีโอกาสพบหินแปลกๆตามที่เห็น หรือที่เรียกว่าแร่ควอตซ์ ซึ่งน่าจะเป็นชนิดคาลซิโดนี ถ้าแร่ควอตซ์ตกผลึกเป็นเหลี่ยมๆ เขาเรียกหินเขี้ยวหนุมาน

เพราะฉะนั้นก็เป็นแร่ควอตซ์ธรรมดาเท่านั้น ถามว่ามีประโยชน์อะไรไหม ถ้ามีความแข็งมีสีสันก็สามารถนำไปเจียระไนเป็นหัวแหวนได้ แบบแถวลพบุรีที่เรียกว่าโมกุล แต่ต้องมีมากพอสมควรและต้องมีสีมีลวดลาย ชาวบ้านถ้าจะใช้ประโยชน์กันจริงๆ ก็จะต้องไปเรียนการเจียระไน ซึ่งความแข็งอยู่ในระดับ 7 รองจากเพชรที่อยู่ในระดับ 10 การเจียระไนก็จะยาก สรุปว่าก็เป็นแร่ควอตซ์ชนิดหนึ่งไม่น่าตื่นเต้นอะไร แถบนี้ถ้าขุดไปก็น่าจะเจออีก ถ้าเอาไปขายทั่วไปก็ไม่น่าจะมีราคา นอกจากว่าชาวบ้านจะเอามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน มาเจียระไนเป็นหัวแหวนแต่ก็ต้องมีเครื่องมือมีการลงทุน แต่อย่างไรก็ไม่ใช่อัญมณีที่คนนิยมทั่วไป

ข้อมูลจาก เดลินิวส์

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ